พูดถึง Fallout แล้ว คำเปรยที่เราจะต้องนึกถึงเป็นคำแรกคงไม่ใช่คำว่าอะไรนอกจาก ‘สงครามไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย’ ที่เป็นคำจำกัดความที่ชัดเจนที่สุดสำหรับเหตุการณ์ภายในเกมที่ผู้เล่นจะได้สัมผัส แต่ในเมื่อวันนี้ Fallout ได้กลายเป็นซีรีส์ฉบับคนแสดงแล้ว สิ่งต่างๆ ที่เคยถูกถ่ายทอดมานั้นจะเป็นอย่างไร มีความเปลี่ยนแปลงไปไหม วันนี้พวกเราก็ได้มีโอกาสชมซีรีส์แล้วเป็นที่เรียบร้อยพร้อมมารีวิวความประทับใจให้เพื่อนๆ ฟังด้วยครับ

เรื่องราวติดตามได้ง่าย

แม้จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่นำเค้าโครงเรื่องมาจากวิดีโอเกมที่ว่ากันตามตรงก็มีการแตกกิ่งก้านสาขามากมายด้วยจำนวนมากหลักหลายภาค แต่ซีรีส์เวอร์ชันคนแสดงจริงนั้นได้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นเอกเทศชัดเจน และใช้เหตุการณ์สำคัญที่เป็นเหมือนหัวใจหลักของเกมนั่นคือการทำสงครามนิวเคลียร์ใน ‘วันสิ้นโลก’ เพียงเหตุการณ์เดียวเท่านั้น ซึ่งจุดนี้ทำให้ผู้พัฒนาซีรีส์ (และที่จริงเกมก็เป็นแบบนั้น) มีอิสระที่จะตีความการใช้ชีวิตของผู้คนต่างๆ ทั้งบนโลกและใต้พิภพได้อย่างสะดวกแทบไม่ต้องกลัวไปขัดแย้งเกมภาคไหน ขณะเดียวกันก็ทำให้เรื่องราวปะติดปะต่อได้ง่ายต่อให้ไม่ต้องเล่นเกมก็ตามได้สบายๆ

เมื่อมีแกนเรื่องหลักๆ แล้ว ตัวละครที่ถูกเนรมิตขึ้นมาให้กลายเป็นตัวเดินเรื่องก็จะสร้างความผูกพันให้เราได้ไม่ยากเพราะ Lucy ตัวเอกหลักของเราก็จะเดินทางในโลกที่เธอ หรือหลายคนที่ไม่เคยเล่นเกม ไม่รู้จักไปได้พร้อมๆ กัน เซอร์ไพรส์พร้อมกัน สืบเสาะเรื่องราวเบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ ไปพร้อมกัน อย่างไรเสียแม้หนังจะดูเหมือนทำให้ทุกคนสามารถเข้าใจเรื่องราวที่ถูก Standardized เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทว่าก็จะมีความเกี่ยวข้องในแง่ของจักรวาลเกมเพราะเป็นไทม์ไลน์เดียวกันทั้งหมดอยู่ดี

เส้นแบ่งชีวิตในโลกหลังสงครามนิวเคลียร์ และสิ่งที่ทำให้รสชาติไม่เหมือนกับเกม

เป็นความจริงที่ต้องยกนิ้วให้เลยว่าซีรีส์ทำให้เราเห็นภาพความสูญเสีย ความโกลาหล ไปจนถึงความไม่รู้ ของตัวละครหลายๆ ตัวละครตั้งแต่วันแรกที่ระเบิดลงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากภาพงานเลี้ยงวันเกิดของเด็กคนหนึ่งได้กลายเป็นการดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดเมื่อทันทีที่ปรมาณูลูกแรกตกลงมา ทุกคนต่างวิ่งหนีเอาตัวรอด และชั่วพริบตาเดียวทุ่งหญ้าเขียวขจีก็ถูกไฟและแรงระเบิดเผาไหม้ ครั้นใครจะรอดชีวิตมาได้ก็กลับกลายเป็นเหมือนซากศพเดินได้ที่ต้องเห็นโลกในสภาพเละเทะตลอดสองร้อยปี

ขณะเดียวกันผู้ที่หลบหนีไปสู่หลุมหลบภัยเองนั้นแม้จะได้ใช้ชีวิตที่สุขสบายด้วยเทคโนโลยีที่ดีและปลอดภัยจากการสัมผัสสารพิษ ทว่านั่นก็ทำให้คนเหล่านี้ไม่รู้เลยว่าหลายชั่วอายุคนที่ผ่านมาบรรพบุรุษต้องเจออะไรกันบ้าง ครั้นเมื่อ Lucy ได้ขึ้นไปสู่โลกภาคพื้นดินเบื้องบน เธอจึงเหวอไม่น้อยกับขื่อแปที่ไม่มีอยู่จริง มีเพียงการกิน การอยู่ และความเป็นความตายที่เธออาจจะเอาขาเข้าไปอยู่ในเส้นกั้นนั้นโดยไม่รู้ตัวหากเผลอพูดจาผิดหู โดยต้องบอกเลยว่าฉากโหดเหี้ยมจัดเต็มยิ่งกว่าในเกมอีก ใครที่ทนกับ Gore ไม่ได้อาจต้องพกยาดมสักหน่อยคำพูดจาก เว็บเดิมพันออนไลน์

อีกหนึ่งกลุ่มตัวละครที่รู้สึกว่าทำออกมาได้น่าสนใจก็คือบนโลกนั้นยังมีคนที่รอดชีวิตและไม่ได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีด้วย ซึ่งคนเหล่านี้แน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ของซีรีส์) ก็อำลาไปสู่โลกหน้ามาแล้ว แต่ทายาทของพวกเขาที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แร้นแค้นก็สามารถปรับตัวกับโลกที่โหดร้ายได้ดี เพียงแต่ตัวละครแทบจะร้อยทั้งร้อยนั้นมองว่า Lucy ก็ไม่ต่างอะไรกับหมูในอวยที่สามารถโดนเชือดได้ง่ายๆ ด้วยความไม่รู้ของเธอ บ้างก็แสดงท่าทีรังเกียจ บ้างก็เป็นห่วง ของแบบนี้เราหาจากในเกมไม่ได้เลยจริงๆ นะ

จังหวะการเล่าเรื่องและการแสดง

ในตอนแรกสุดเราจะได้ใช้เวลาเต็มๆ 70 นาทีในการทำความรู้จักปูมหลังของตัวละครหลักทั้งสามครบทั้งหมด แต่แน่นอนว่าจะโฟกัสที่ Lucy เป็นหลัก ซึ่งตัวละครนี้ทำหน้าที่เป็น ‘คนอ่อนต่อโลก’ ที่คิดว่าทั้งชีวิตของเธอมีเพียงแค่การอยู่อาศัยใต้หลุมหลบภัยที่เป็นสังคมอันแสนสงบสุขได้ดีมากๆ เช่นเดียวกับชาวเมืองทุกคนที่ดูจะเป็นมิตรและไม่เคยคิดว่าจะเจอเหตุการณ์พลิกชีวิต ขณะที่ Maximus นั้นเป็นลูกหลานของผู้รอดชีวิตที่ต้องอาศัยบนพื้นดินและเข้าร่วมเป็นกองกำลัง Brotherhood of Steel ทว่าเขาก็มีอารมณ์ขันในแบบตัวเอง ส่วน The Ghoul แน่นอนว่าเมื่อเราเห็นรูปร่างก็รู้ได้เลยว่าเป็นคนเจนโลกที่รอดชีวิตจากภัยนิวเคลียร์มาในสภาพที่ไม่เต็มร้อยเท่าไรนัก แต่ความกร้านโลกก็ช่วยขัดเกลาให้เขาตัดสินใจคิดเร็วทำเร็วและเด็ดขาด

เมื่อเราผ่านการแนะนำตัวละครทั้งหมดแล้วจะเข้าสู่ความดุดันของเรื่องราวเลย โดยเนื้อเรื่องถูกถ่ายทอดออกมาได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งไม่ใช่กระชับ แต่ทุกอย่างเป็นเนื้อๆ แทบจะทั้งหมดเลย เรียกง่ายๆ ว่าหาจุดแผ่วแทบไม่ได้ดังนั้นใครดูคงต้องมีจิกเบาะและนั่งชมยาวต่อเนื่อง (โชคดีที่พรีเมียร์วันแรกก็ฉายครบทั้ง 8 ตอน) และท้ายที่สุดการแสดงของตัวละครมีความน่าสนใจตรงที่ถ้าใครเคยเล่นเกมมาจะรู้เลยว่าตัวละครไหนเป็นเพียง NPC ทั่วไปหรือตัวละครหลัก นั่นคือไดอะล็อกที่ฟังไร้สาระ เราจะเห็นว่ามีตัวละครแปลกๆ ที่พูดจาอะไรไม่เมคเซนส์ออกมาทุกตอน นับเป็นความคอเมดี้แบบดาร์กๆ ที่ใส่ออกมาพอลดความเครียดบ้าง

อีสเตอร์เอ้ก รายละเอียดที่ทำให้ Fallout มันเป็น Fallout

จากข้างต้นที่ผมได้พูดถึงเรื่องไดอะล็อกตัวละครเสริมที่โผล่มาแบบงงๆ ฮาๆ นั่นก็สามารถนับเป็นอีสเตอร์เอ้กได้ แต่ถ้าเกิดจะให้มานั่งนับรายละเอียดของสิ่งเหล่านี้จริงๆ ในซีรีส์ก็ขอบอกว่านับไม่ถ้วน ทั้งโมเดลสิ่งของต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คือเพลงแจ๊ซและเพลงครูนส์ที่อยู่คู่กับระบบวิทยุของเกม เป็นที่ทราบกันดีว่าโลกในแฟรนไชส์นี้จะเป็นแนว Retrofuturistic ดังนั้นแม้ความจริงจุดเริ่มต้นจะอยู่ในยุค 2070 กว่าๆ แต่การแต่งตัวหรือเพลงและศิลปะยังคงค้างอยู่ในยุค 1950 – 1960 จนมาถึงหลังสงครามไปอีกกว่าร้อยปีข้างหน้าก็ยังเป็นเพลงเหล่านี้

นี่คือซีรีส์จากวิดีโอเกมที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้

ส่วนตัวแล้วผมมองว่า Fallout ภารกิจฝ่าแดนฝุ่นมฤตยู เป็นซีรีส์ที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นวิดีโอเกมได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับแฟรนไชส์อื่นๆ ที่ลองหยิบมาอะแดปต์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างของซีรีส์เวอร์ชันคนแสดงมีความลงตัวไม่ว่าจะเป็นปมของเรื่อง บรรยากาศ และเพลง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจถ้าหากในอนาคตเราจะได้ยินข่าวการเปิดไฟเขียวจาก Prime ในการพัฒนาซีรีส์ภาคต่อ ใครที่มีเวลาว่างช่วงวันหยุดยาวลองมาชมก็น่าจะแฮปปี้ไม่น้อย

สำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่สนใจหรือยังไม่ได้มีโอกาสเข้าชม Fallout ภารกิจฝ่าแดนฝุ่นมฤตยู อย่าลืมไปติดตามกันได้แล้วบนบริการสตรีมมิง Prime Video ของประเทศไทย ราคาเริ่มต้นเพียง 149 บาทต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันได้เปิดเข้าชมได้ครบทั้ง 8 ตอนแล้วพร้อมการรองรับคำบรรยายและเสียงพากย์ภาษาไทย นอกจากนั้นในเดือนเมษายนนี้ผู้รับบริการยังสามารถใช้งาน Prime Gaming แลกรับเกม Fallout 76 ฟรีไปเล่นกันต่อด้วย ส่วนโอกาสหน้า ThisIsGame Thailand จะมีอะไรมาอัปเดตให้ฟังอย่าลืมติดตามกัน

Amazon Bethesda Fallout Prime Video

By admin